Quisling, Vidkun Abraham Lauritz Johnson (1887-1945)

นายวิดดุน อับราฮัม เลาริตซ์ จอห์นสัน ควิสลิง (พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๘๘)

วิดคุน อับราฮัม เลาริตซ์ จอห์นสัน ควิสลิง เป็นนายกรัฐมนตรี ๕ วันของนอร์เวย์ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* เขาเป็นนักการเมืองที่นิยมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเผด็จการของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* และฝักใฝ่ในอุดมการณ์ของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ควิสลิงต้องการให้นอร์เวย์


ปกครองภายใต้การนำของพรรคนาซีเช่นเดียวกับเยอรมนีเขาสนับสนุนให้กองทัพเยอรมันเข้ารุกรานและยึดครองนอร์เวย์ในต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ การขาดเสียงสนับสนุนจากประชาชนทำให้กองทัพเยอรมันปลดเขาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานรัฐมนตรี (minister president) ของรัฐบาลหุ่นและอยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาได้ชื่อว่าเป็นคนขายชาติ ชื่อสกุลควิสลิงกลายเป็นศัพท์การเมืองที่หมายถึงผู้ทรยศชาติ หรือนักการเมืองที่สนับสนุนผู้รุกรานประเทศของตน

 ควิสลิงเป็นบุตรชายของยอน เลาริตซ์ (Jon Lauritz) และอันนา แคโรลีน บาง (Anna Caroline Bang) เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๗ ณ เมืองฟิเรสดัล (Fyresdal) ในเขตเทเลมาร์ก (Telemark) ราชอาณาจักรนอร์เวย์ บิดาเป็นนักเทศน์และนักพงศาวลีวิทยา (genealogist) นามสกุลควิสลิงเป็นคำละตินที่มาจากชื่อหมู่บ้านควิสเลมาร์ก (Kvislemark) ในจัตแลนด์ (Jutland) ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษก่อนอพยพมายังนอร์เวย์ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ส่วนมารดาเกิดในตระกูลบักกา (Bakka) ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาของเขตเทเลมาร์ก ควิสลิงมีพี่น้องรวม ๔ คนเป็นชาย ๓ คนและหญิง ๑ คน เขาเป็นบุตรชายคนที่ ๓ เป็นเด็กขี้อายและค่อนข้างเงียบ ขณะเดียวกันก็มีนิสัยเป็นมิตรกับคนทั่วไป ชอบช่วยงานบ้าน และมีรอยยิ้มที่แจ่มใส

 ระหว่า ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๐๐ บิดาได้งานเป็นศาสนาจารย์ (chaplain) ณ เมืองสเตรอเมอ (Strømaø) ในจังหวัดดรัมเมน (Drammen) และควิสลิงก็เริ่มเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรกที่นั่นในเยาว์วัยเขามักถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนสำเนียงเทเลมาร์กที่แตกต่างไปจากนักเรียนคนอื่น ๆ ควิสลิงเป็นเด็กเรียนเก่งและสนใจในวิชาศาสนา อภิปรัชญา และคณิตศาสตร์ขณะมีอายุ ๑๒ ปี เขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือสาธิตการคำนวณตัวเลขขึ้นซึ่งในปัจจุบันก็ยังใช้สาธิตกันตามโรงเรียนต่าง ๆ

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ครอบครัวควิสลิงได้ย้ายไปพำนักยังเมืองเชเอิน (Skien) โดยบิดาได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขศาสนาจารย์ (provost) ของเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ควิสลิงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนการทหาร (Norwegian Military Academy) โดยสอบเข้าได้คะแนนสูงสุดจากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งสิ้น ๒๕๐ คน อีก ๑ ปีต่อมาเขาได้ย้ายไปศึกษาที่วิทยาลัยการทหาร (Norwegian Military College) และจบการศึกษาด้วยคะแนนสูงสุดนับตั้งแต่วิทยาลัยได้จัดตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๑๗ และได้รับเกียรติให้เข้าเฝ้าพระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๕๗)* พระประมุข

 ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๑ ขณะอายุ ๒๔ ปี ควิสลิงได้รับการบรรจุเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* เมื่อนอร์เวย์ได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง ควิสลิงไม่เห็นด้วยและมักแสดงความไม่พอใจต่อขบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ดีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของเหยื่อสงครามในประเทศต่าง ๆ ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อสงครามนองเลือด

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ควิสลิงได้รับยศร้อยเอก ระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงเปโตรกราด (Petrograd) รัสเซีย ประสบการณ์จากการทำงานและการอาศัยในรัสเซียเป็นเวลาเกือบ ๑ ปีทำให้ควิสลิงสนใจการเมืองและสังคมของรัสเซียและเริ่มศึกษาภาษารัสเซียจนแตกฉานในเวลาต่อมา ทั้งเขาก็ได้รับยกย่องว่าเป็นนายทหารผู้เชี่ยวชาญในเรื่องรัสเซียของกองทัพนอร์เวย์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๑ ควิสลิงย้ายไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ราชอาณาจักรฟินแลนด์

 ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ ควิสลิงถูกส่งตัวไปทำงานกับฟริดท์ยอฟ นันเซิน (Fridtjof Nansen) นักสำรวจขั้วโลกเหนือและผู้แทนนอร์เวย์ในสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากการขาดแคลนอาหารในแคว้นยูเครน (Ukraine) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตนับพันนับหมื่นคนต่อวัน ควิสลิงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเขียนรายงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในเชิงบริหารจัดการ การวางแผนจนทำให้ความช่วยเหลือมาถึงมือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วทันที และช่วยให้พวกเขาพ้นจากภัยพิบัติ ทำให้นันเซินซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ยกย่องเขาและกลายเป็นมิตรที่ดีต่อกัน

 ขณะประจำการที่ยูเครน ควิสลิงได้สมรสกับอะเล็กซานดรา อันเดรเยวา เวโรนีนาหรืออัสยา (Alexandra Andreeva Veronina; “Asja”) ชาวรัสเซียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ เธอเป็นบุตรสาวของพ่อค้าเร่ที่ยากจน ซึ่งเขาสงสารและต้องการช่วยยกฐานะของเธอจากความยากจนและให้ได้รับหนังสือเดินทางของนอร์เวย์ ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ควิสลิงได้แต่งงานครั้งที่ ๒ กับมาเรีย วาซีลีเยฟนา ปาเซตสย์นีโควา (Maria Vasilijevna Pasetsjnikova) สตรีชาวยูเครน ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเขา ๑๐ ปี ทั้งที่มิได้หย่าขาดจากภรรยาคนแรก (เชื่อว่าการสมรสครั้งที่ ๒ ของเขามิได้ถูกต้องตามกฎหมาย) หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน หน้าที่และภารกิจของควิสลิงในยูเครนก็สิ้นสุดลงพอดี ควิสลิงตัดสินใจพาภรรยาไปพำนักในกรุงปารีสเนื่องจากป่วยด้วยโรคกระเพาะและมาเรียก็อยากใช้ชีวิตในยุโรปจึงทำให้เขาลาออกจากราชการทหารขณะมียศพันตรีและพาภรรยาเดินทางออกจากยูเครน

 ขณะอาศัยในกรุงปารีส ควิสลิงใช้เวลาในการศึกษาและอ่านงานเขียนด้านทฤษฎีการเมือง และเขาได้นำทฤษฎีการเมืองประสมประสานเข้ากับหลักการพื้นฐานของคริสต์ศาสนา พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาจนเกิดเป็นทฤษฎีการเมืองใหม่ ซึ่งเขาเรียกว่า “Universism” ซึ่งเขาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการเมืองของเขาในอนาคต

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๓ ควิสลิงไปร่วมทำงานกับนันเซินอีกครั้งในโครงการส่งผู้อพยพกลับสู่ถิ่นเดิมในคาบสมุทรบอลข่าน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ทั้งสองพยายามเสนอเรื่องผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งผู้อพยพชาวอาร์เมเนีย (Armenian) กลับสู่ถิ่นเดิม แต่ถูกองค์การสันนิบาตชาติปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินดังนั้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาจึงหันไปทำงานให้แก่เฟรเดอริก ไพรตซ์ (Frederik Prytz) ชาวนอร์เวย์ เพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานานซึ่งมีธุรกิจในกรุงมอสโกโดยทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างไพรตซ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงโซเวียตที่เป็นหุ้นส่วนในธุรกิจค้าไม้ของบริษัทโอเนกาวูด (Onega Wood) ของไพรตซ์ ต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๙๒๗ เมื่อไพรตฃ์เลิกกิจการ ควิสลิงได้งานเป็นนักการทูตและทำงานให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งในขณะนั้นพึ่งนอร์เวย์ในการดำเนินงานด้านการทูตในรัสเซีย โดยทำหน้าที่เป็นเลขานุการสถานเอกอัครราชทูต ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ เมื่ออังกฤษและสหภาพโซเวียตปรับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันและอังกฤษดำเนินงานด้านการทูตในรัสเซียเอง ควิสลิงจึงเดินทางกลับนอร์เวย์เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิอังกฤษ (Order of the British Empire-CBE) จากรัฐบาลอังกฤษเป็นบำเหน็จความชอบและคุณงามความดีที่ทำให้แก่สหราชอาณาจักร [ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๕๓)* หลังจากเขาให้การสนับสนุนกองทัพเยอรมัน ได้มีการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวนี้] และเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอีกหลายประเทศ

 หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนเป็นระยะเวลาอันยาวนานและเดินทางกลับมายังนอร์เวย์บ้านเกิด ควิสลิงก็เริ่มหันเหชีวิตเข้าสู่วงการการเมืองและมีแผนที่จะสร้างระบบการเมืองใหม่ขึ้น โดยเลียนแบบรูปแบบของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตทั้งที่เขาเห็นว่าระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบบการเมืองที่น่าสะพรึงกลัวโดยให้มีระบบ ๒ สภา สภาล่างประกอบด้วยสมาชิกเลือกตั้งที่มาจากชนชั้นแรงงาน ขณะเดียวกัน ควิสลิงก็นิยมระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารหรือลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ต่อมา เขาได้ร่วมมือกับไพรตซ์จัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อ Nordisk folkereisning i Norge (Rise of the Nordic people in Norway) ณ กรุงออสโล (Oslo) ประกอบด้วยคณะกรรมการ ๓๑ คน ควิสลิงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเรียกว่า “เฟอเรอร์” (fører) และจัดการประชุมครั้งแรกในวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อ “ล้มล้างขบวนการคอมมิวนิสต์” ในนอร์เวย์

 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ควิสลิงได้ลาออกจาก Nordisk folkereisning i Norge เพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในคณะรัฐบาลพรรคชาวนา (Agrarian Party) ซึ่งมีพีเดอร์ โคลสตัด (Peder Kolstad) เป็นนายกรัฐมนตรี เขาดำรงตำแหน่งสำคัญนี่จนถึง ค.ศ. ๑๙๓๓ ควิสลิงดำเนินนโยบายเชิงอนุรักษนิยมและต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ เขาจัดตั้งกองทัพถาวรเรียกว่า ไลดังเงิน (Leidangen) เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการปฏิวัติ ส่วนในด้านชีวิตส่วนตัวในช่วงระยะเวลานี้ เขาได้ดำเนินการให้มีการประกาศโมฆะการแต่งงานของเขากับอัสยาภรรยาคนแรกด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ควิสลิงได้ตีจากพรรคชาวนา และในปีต่อมาได้จัดตั้งพรรคการเมืองของเขาขึ้น เรียกว่า พรรคเอกภาพแห่งชาติ (Nasjonal Samling - National Unity) โดยมีรัฐบาลเยอรมันภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้การสนับสนุนในด้านการเงิน พรรคเอกภาพแห่งชาติมีโครงสร้างของพรรคเลียนแบบพรรคสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซีซึ่งต่อด้านระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์และการจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างไรก็ดีพรรคเอกภาพแห่งชาติก็ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนมากนัก ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๓๓ พรรคได้รับเสียงเลือกตั้งเพียง ๒๘,๐๐๐ เสียงเท่านั้น

 นับแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ เป็นต้นไป ควิสลิงเริ่มมีความสัมพันธ์โกล้ชิดกับฮิตเลอร์และพรรคนาซี เขาเข้าร่วมประชุมกับพรรคนาซีนอกประเทศบ่อยครั้ง ทั้งยังนำอุดมการณ์ของพรรคนาซีและพรรคฟาสซิสต์อิตาลีมาหล่อหลอมเข้ากับนโยบายของพรรคเอกภาพแห่งชาติ จนทำให้เขาได้ชื่อว่า “ฮิตเลอร์แห่งนอร์เวย์” (Norwegian Hitler) แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังคงไม่ให้การสนับสนุนพรรคเอกภาพแห่งชาติเหมือนเดิม ปรากฏว่าในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๓๖ พรรคเอกภาพแห่งชาติได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง ๒๖,๐๐๐ เสียงซึ่งมีคะแนนเสียงน้อยกว่าใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันภายในพรรคและทำให้สมาชิกพรรคแตกเป็น ๒ ฝ่าย ท้ายที่สุด สมาชิกจำนวนมากก็ดีตัวออกจากพรรค อย่างไรก็ดี ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในการประชุมของพรรคนาซีที่เมืองรีกา (Riga) ในลัตเวีย (Latvia) ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นที่เข้าใจกันว่าอิทธิพลของ ฟือเรอร์ (Führer)* จะช่วยให้ควิสลิงได้เป็นผู้นำของนอร์เวย์ในอนาคตอันใกล้ และในการเดินทางไปเยี่ยมกรุงเบอร์ลินในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ หลังเกิดสงครามแล้ว ควิสลิงก็คงได้เจรจากับฮิตเลอร์ในการวางแผนให้กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองนอร์เวย์ด้วย

 ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอร์เวย์พยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางเช่นเดียวกับในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่สภาพที่ตั้งซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลเหนือทำให้เยอรมนีบุกเข้าโจมตีนอร์เวย์ในรุ่งเช้าของวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ตามแผนปฏิบัติการเวเซรือบุง (Operation Weserübung) ก่อให้เกิดยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* ขึ้น กองกำลังเยอรมันได้โจมตีกรุงออสโลและเมืองท่าสำคัญ ๆ และสามารถเข้ายึดที่มั่นได้ในเวลาอันรวดเร็วอย่างไรก็ดี กองทัพนอร์เวย์ก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยมีกำลังของอังกฤษ ฝรั่งเศส และโปแลนด์ให้การสนับสนุนนอร์เวย์สามารถต่อต้านการรุกรานของเยอรมนีเป็นเวลาเกือบ ๒ เดือน นับว่ายาวนานที่สุด (ยกเว้นในรัสเซีย) ในการยกกองกำลังเข้ายึดครองประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของกองทัพเยอรมัน ในวันที่ ๗ มิถุนายน นอร์เวย์ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าและขาดการสนับสนุนทางอากาศยานจำต้องประกาศยอมแพ้ พระเจ้าฮากอนที่ ๗ และสมเด็จพระราชินีมอด (Maud) พระราชธิดาองค์สุดท้องของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* แห่งอังกฤษจึงเสด็จหนีออกจากนอร์เวย์พร้อมด้วยคณะรัฐบาลไปยังอังกฤษและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น

 ขณะเดียวกันควิสลิงก็ถือโอกาสเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ เขาเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่ประกาศรัฐประหารทางวิทยุและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ (ad hoc government) ขึ้น โดยหวังว่าฮิตเลอร์จะให้การสนับสนุน แต่ประชาชนโดยทั่วไปกลับต่อต้านเขาจนกองทัพเยอรมันต้องปลดเขาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากมีอำนาจปกครองได้เพียง ๕ วันเท่านั้น โยเซฟ เทอร์โบเวิน (Josef Terboven) ผู้นำของกองกำลังพรรคนาซีเยอรมันได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด (Reichskom-missar) ในวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และมีหน้าที่รายงานโดยตรงต่อฮิตเลอร์ เทอร์โบเวินปกครองนอร์เวย์ด้วยอำนาจเผด็จการ มีการสร้างค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ในนอร์เวย์ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างควิสลิงกับเทอร์โบเวินก็เป็นไปอย่างตึงเครียดด้วย ดังนั้น เพื่อสร้างบรรยากาศปรองดอง ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ ควิสลิงก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “ประธานรัฐมนตรี” หัวหน้ารัฐบาลหุ่นนอร์เวย์ใต้การบงการของเยอรมนี ส่วนเทอร์โบเวินยังคงมีตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม อย่างไรก็ดี ชาวนอร์เวย์โดยทั่วไปก็ไม่เคยยอมรับในอำนาจของทั้งเทอร์โบเวินและควิสลิง

 ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่เยอรมนีเข้ายึดครองประเทศนั้น ชาวนอร์เวย์จัดตั้งขบวนการต่อต้านเยอรมนีอย่างแข็งขันและร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับกองกำลังเยอรมันทั้งด้วยอาวุธและการขัดขืนของพลเมืองที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของทหารเยอรมัน ทั้งยังได้รับการช่วยเหลือในการปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างลับ ๆ จากอังกฤษ นอกจากนี้ เรือพาณิชย์ของนอร์เวย์ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับกองกำลังเยอรมันในช่วงที่ก่อนเกิดสงครามนั้น นอร์เวย์มีกองกำลังเรือพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก ทั้งยังเป็นเรือเดินสมุทรที่มีความเร็วสูงที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในโลกอีกด้วย เมื่อนอร์เวย์ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครอง กองเรือพาณิชย์ของนอร์เวย์กว่า ๑,๐๐๐ ลำได้รับคำสั่งจากรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ในกรุงลอนดอนให้ขนถ่ายเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ และลำเลียงกำลัง รวมทั้งให้ร่วมปฏิบัติการกับฝ่ายพันธมิตรในยุทธนาวีที่มหาสมุทรแอตแลนติก (Battle of the Atlantic)* และการถอนทัพที่ดันเคิร์ค (Evacuation of Dunkirk ค.ศ. ๑๙๔๐)* รวมทั้งการยกพลขึ้นบกที่นอร์มองดี (Normandy) ในปฏิบัติการวันดี-เดย์ (D-Day ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔)* ที่ฝ่ายพันธมิตรสามารถปลดปล่อยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสจากการยึดครองของเยอรมนีได้สำเร็จซึ่งมีผลให้ในเวลาต่อมาฝ่ายพันธมิตรสามารถเผด็จศึกเยอรมนีได้สำเร็จ

 ในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังเยอรมนียอมพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ ควิสลิงถูกจับและควบคุมตัวได้ที่คฤหาสน์ที่บิกเดย (Bygdøy) ในกรุงออสโล นับเป็นการสิ้นอำนาจและบทบาทของเขาในฐานะประธานรัฐมนตรีส่วนเทอร์โบเวินได้ก่ออัตวินิบาตกรรม ๑ วันก่อนหน้านี้ ควิสลิงถูกดำเนินคดีในข้อหาทรยศต่อชาติและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่ป้อมอะเคิร์สฮุส (Akershus Fortress) เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาเสียชีวิตขณะมีอายุ ๕๘ ปี ส่วนมาเรียภรรยามีอายุยืนยาวจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๐ ทั้งคู่ไม่มีบุตรธิดาร่วมกัน

 ชื่อสกุล “ควิสลิง” กลายเป็นคำศัพท์ในภาษายุโรปหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่หมายถึง ผู้ทรยศชาติหรือนักการเมืองที่สนับสนุนผู้รุกรานประเทศของตน โดยหนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษเป็นสื่อแรกที่เริ่มต้นใช้คำศัพท์นี้.



คำตั้ง
Quisling, Vidkun Abraham Lauritz Johnson
คำเทียบ
นายวิดดุน อับราฮัม เลาริตซ์ จอห์นสัน ควิสลิง
คำสำคัญ
- การยกพลขึ้นบกที่นอร์มองดี
- ควิสลิง, วิดคุน อับราฮัม เลาริตซ์ จอห์นสัน
- ค่ายกักกัน
- เทอร์โบเวิน, โยเซฟ
- นันเซิน, ฟริดท์ยอฟ
- บิกเดย
- ปฏิบัติการเวเซรือบุง
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคนาซี
- พรรคฟาสซิสต์
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- ฟือเรอร์
- ยุทธการที่นอร์เวย์
- ยุทธนาวีที่มหาสมุทรแอตแลนติก
- ยูเครน
- รางวัลโนเบล
- ลัทธิฟาสซิสต์
- เลาริตซ์, ยอน
- วันดี-เดย์
- เวโรนีนา, อะเล็กซานดรา อันเดรเยวา
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สันนิบาตชาติ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1887-1945
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๘๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-